top of page
รูปภาพนักเขียนSiambest Steel Works

ถังดับเพลิงสีเขียว (ถังเขียว) คืออะไร?

อัปเดตเมื่อ 2 ต.ค. 2566


ถังเขียว ถังดับเพลิง คืออะไร

ประเภทของถังดับเพลิงที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน มีหลากหลายประเภท แต่ประเภทที่ได้รับการสอบถามถึงข้อมูลมากที่สุดประเภทหนึ่งเลยก็คือ ถังดับเพลิงสีเขียว ถังเขียว บรรจุสารดับเพลิงอะไร แตกต่างจากประเภทอื่นๆอย่างไร?


ถังดับเพลิงถังสีเขียว อาจมีชื่อเรียกหลายแบบ เช่น

- NON-CFC

- สารเหลวระเหย

- BF2000 (ชื่อยี่ห้อ)

- ฮาโลตรอน (ชื่อยี่ห้อ)

- สารสะอาด

- Clean Agent


ซึ่งชื่อที่ทั้งหมดนี้ หมายถึงสารดับเพลิงประเภท "สารสะอาด (Clean Agent)" บางชื่อใช้เป็นชื่อยี่ห้อ (BF2000, ฮาโลตรอน) บางชื่อสื่อถึงลักษณะทางกายภาพหรือคุณสมบัติของตัวสาร (สารเหลวระเหย, NON-CFC) แต่ทั้งหมดนี้คือสารกลุ่มเดียวกัน มีลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงกัน แต่มีสูตรทางเคมีแตกต่างกันไป (ยกตัวอย่างเหมือนน้ำอัดลม มีโค้ก เป็บซี่ โซดา น้ำส้ม น้ำแดง หลายประเภทแต่เรียกรวมๆก็คือน้ำอัดลม)


ข้อดีของสารดับเพลิงประเภทสารสะอาด คือเมื่อฉีดใช้งานแล้ว ตัวสารจะระเหยไปเองจนหมด ไม่มีคราบสกปรกของตัวสารดับเพลิงเหมือนสารดับเพลิงประเภทอื่นเช่น เคมีแห้ง หรือ โฟม ทำให้เหมาะกับใช้งานในห้องปรับอากาศ อาคารสำนักงาน หรือใช้งานกับอุปกรณ์ที่มีมูลค่าสูง



จุดเริ่มต้นถังเขียว มาจากถังดับเพลิงประเภท BCF

ถังดับเพลิงBCF เป็นถังดับเพลิงประเภทสารสะอาดที่พัฒนามาเพื่อใช้ในพื้นที่เฉพาะ ที่ไม่ต้องการให้เกิดฝุ่นผงหรือคราบสกปรก เช่น บนเครื่องบินหรือพื้นที่ที่จัดเก็บวัสดุหรือทรัพย์สินมูลค่าสูง ซึ่งแรกเริ่มใช้น้ำยาประเภท BCF (Bromochlorodifluoromethane) ใช้ชื่อทางการค้าของตัวน้ำยาชนิดนี้ คือ Halon1211(ฮาล่อน1211) หรือ Freon12B1(ฟรีอ้อน12บี1)

ซึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อน จะบรรจุอยู่ในถังดับเพลิงสีเหลือง

halon1211 BCF

ข้อดีของสารดับเพลิง BCF คือ สามารถดับไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ไม่ก่อให้เกิดคราบสกปรกหรือความเสียหายต่อสิ่งที่อยู่โดยรอบ แตกต่างกับผงเคมีแห้ง แต่ถังดับเพลิง BCF เองก็มีข้อเสียที่สำคัญอยู่ประการหนึ่งเลยก็คือ ตัวสาร มีค่าการทำลายชั้นบรรยากาศ Ozone Depletion Potential (ODP) ที่สูงมาก

**ปริมาณ Halon1211 เพียงแค่ 1 กิโลกรัม สามารถทำลายโอโซนได้ถึง 50 ตัน หรือ 50,000 กิโลกรัม**


เมื่อทั่วโลกต่างเริ่มตระหนักถึงค่าทำลายโอโซนและโลกร้อน เมื่อปี พ.ศ.2530 จึงได้เกิดสนธิสัญญามอนทรีออล สนธิสัญญาสากลที่ว่ากันด้วยเรื่องของการควบคุม ยับยั้ง และลดการผลิตและการใช้งานสารต่างๆที่มีค่าทำลายโอโซนขึ้น

โดยประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในสนธิสัญญานี้ด้วย

ซึ่งสาร BCF ถือเป็นสารลำดับแรกๆที่ต้องถูกยกเลิกการผลิตและการใช้งานเนื่องจากมีค่าทำลายโอโซนสูงมากๆ

ภายในปี พ.ศ.2537 สาร BCF ถูกจำกัดการใช้งานให้เหลือเพียง 25% ทั่วโลก

และถัดมานปี พ.ศ.2539 สาร BCF ได้ยกเลิกการผลิตและการใช้งานทั่วไปลงอย่างถาวร


ทำให้ต่อมามีการพัฒนาสารดับเพลิงเพื่อมาทดแทนการใช้งานแทนสาร BCF

ซึ่งก็คือประเภท HCFCs (hydrochlorofluorocarbon) โดยมีสารที่มีเครื่องหมายการค้าที่เราคุ้นหูกันดีคือ Halotron (ฮาโลตรอน) และยังมียี่ห้ออื่นอีกที่คุ้นหูซึ่งก็คือ BF2000 (สารคนละประเภทกับ Halotron) ซึ่งยังคงมีค่าทำลายโอโซนอยู่ แต่น้อยกว่าเดิมมาก เมื่อมีสารดับเพลิงประเภทฮาโลตรอนออกมาบรรจุในถังดับเพลิง ก็ได้ใช้เป็นถังดับเพลิงสีเขียวแทน เพื่อแยกความแตกต่างของสารที่บรรจุในถังดับเพลิง ว่าเป็นสารดับเพลิงประเภทใหม่ที่ไม่ใช่ BCFหรือHalon จึงเป็นจุดกำเนิดของถังดับเพลิงสีเขียวนั่นเอง และหลายยี่ห้อก็จะใส่ข้อความว่า NON-CFC ซึ่งหมายถึงว่าไม่มีสารCFC (แต่ความจริงคือยังมีสารCFCอยู่ แต่น้อย)


หมายเหตุ: สาร HCFCs เอง ในสนธิสัญญามอนทรีออล ก็ได้ควบคุมการใช้งานและลดโควต้าการผลิตและนำเข้าเรื่อยมา โดยมีจุดมุ่งหมายคือการหยุดใช้งานถาวรภายในปี พ.ศ.2573


ในปัจจุบัน มีสารดับเพลิงที่สามารถลดค่าทำลายโอโซนลงจนไม่เหลือเลยได้ (odp = 0) ก็คือ ประเภท

HFCs (Hydrofluorocarbon)

และทางบริษัท สยามเบสท์ สตีล เวิร์คส์ ก็ได้นำมาบรรจุและจำหน่ายในถังดับเพลิงสีเขียว โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า

"SATURN Clean Agent"



การพัฒนาของการดับเพลิงสารสะอาด


BCF (Halon1211)

v

HCFCs (Halotron, BF2000)

v




สารเหลวระเหย หรือสารสะอาด ลักษณะเป็นอย่างไร?

สารประเภทนี้จัดว่าเป็น Liquefied Gas คือเมื่ออยู่ในสถานะปกติจะมีสถานะเป็นก๊าซ และเมื่อถูกบรรจุในภาชนะที่มีแรงดันจะเป็นสถานะเป็นของเหลว ลักษณะทางกายภาพคิดภาพง่ายๆก็เหมือนกับก๊าซหุงต้มตามบ้านนั่นเอง แต่สารสะอาดไม่ติดไฟและไม่นำไฟฟ้า


ข้อดี - สามารถดับเพลิงได้โดยไม่ทิ้งคราบสกปรก หรือสร้างความเสียหายแก่บริเวณโดยรอบ

- เหมาะสำหรับใช้งานกับอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ที่มีมูลค่าสูง

- ดับเพลิงได้ทุกประเภท A B C

- เป็นสารสะอาดที่แรงดันต่ำกว่า CO2 (น้ำหนักถังเบากว่า ใช้งานสะดวกกว่า ปลอดภัยกว่า)

- เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม ไม่มีค่าทำลายโอโซน (ODP=0) (SATURN Clean Agent)


ข้อเสีย - ราคาสูง

- เหมาะสำหรับใช้งานได้เฉพาะในอาคาร หรือพื้นที่ปิดเท่านั้น

-อุณหภูมิโดยรอบมีผลกับแรงดันตัวสาร เข็มแรงดันอาจสูงขึ้นหรือต่ำลงได้เล็กน้อย (ไม่ส่งผลกับการใช้งาน)




พื้นที่ที่เหมาะสมกับการติดตั้งและใช้งานถังดับเพลิง Clean Agent

ถังดับเพลิงประเภท Clean Agent เหมาะสมกับการใช้งานกับพื้นที่ที่มีทรัพย์สินมูลค่าสูง หรือมีความอ่อนไหวสูง

เช่น ภายในสำนักงาน คอมพิวเตอร์ ห้องเซิฟเวอร์ ห้องไฟฟ้า ตู้คอนโทรล อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ และอื่นๆ ที่ไม่ต้องการให้เกิดสิ่งสกปรก ฝุ่นผง น้ำ โฟม หรืออื่นๆ ที่สามารถทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินได้


! ข้อควรระวังในการใช้งาน !

สารสะอาดดับเพลิงมีความเย็นที่สูงมากๆ ตัวสารนั้นเมื่อถูกฉีดออกมาจะมีอุณหภูมิเย็นติดลบ

การสััมผัสสารดับเพลิงโดยตรง อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงจากความเย็นกัดได้ (frostbite)

หลีกเลี่ยงการสูดดมและควรระบายอากาศภายในพื้นที่หลังการฉีดใช้งาน


---------------------------------------



มีหลายท่านสอบถามเข้ามา เกี่ยวกับถังเขียวที่ไม่ใช่สารสะอาด

.

.

ถังเขียวเหมือนกัน แต่ภายในกลายเป็นโฟม!?


คนทั่วไปอาจสับสนและเข้าใจผิดกันบ่อยๆ เพราะในระยะหลังมานี้ มีถังดับเพลิงประเภท Low Pressure Water Mist ซึ่งมีเครื่องหมายการค้า FireAde2000, Softex และ SC-AFFF ได้ถูกนำมาบรรจุใส่ในถังดับเพลิงสีเขียวเช่นกัน

และได้ใช้คำว่า "NON CFC" บนฉลากด้วย (ซึ่งแน่นอนว่าไม่มี CFC เพราะตัวสารไม่ใช่ก๊าซ) ทำให้เกิดการสับสนกับถังดับเพลิงสีเขียวประเภทสารสะอาด


สารดับเพลิงประเภท Low Pressure Water Mist จะมีลักษณะเป็นน้ำผสมโฟม เป็นฟองสีขาว มีข้อดีคือ สามารถดับไฟได้หลายประเภท ใช้งานได้ทั่วไปทั้งในและนอกอาคาร

แต่..ไม่สามารถเอามาใช้ทดแทนถังดับเพลิงประเภทสารสะอาดในบางพื้นที่ได้ หากนำไปฉีดใช้งานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ อาจทำให้อุปกรณ์เสียหายร้ายแรงได้


สำหรับการใช้งานภายในสำนักงาน ห้องไฟฟ้า ห้องเซิฟเวอร์ ห้องคอนโทรล ห้องเก็บเอกสาร อุปกรณ์ที่มีมูลค่าสูง ควรใช้ถังดับเพลิงประเภทสารสะอาด หรือ CO2 เนื่องจากไม่มีคราบสกปรกในการใช้งาน ไม่มีน้ำหรือคราบน้ำ และไม่มีผลกระทบต่อทรัพย์สินโดยรอบ


โปรดดูฉลากถังดับเพลิงให้แน่ใจประเภทสารดับเพลิง เพื่อความเหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละพื้นที่




SATURN รู้ลึก รู้จริง เรื่องถังดับเพลิง


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม LINE ID: @saturnfire


-----------------------------------


บทความโดย

บจ. สยามเบสท์ สตีล เวิร์คส์

สงวนลิขสิทธิ์ทั้งบทความและรูปภาพประกอบ โดยผู้เขียน

ห้ามนำส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

Comments


bottom of page